โทรศัพท์หน้าจอสั่นเกิดจากอะไร มีวิธีแก้อย่างไรบ้าง โทรศัพท์มือถือใครกำลังประสบปัญหานี้อยู่ มาดูคำแนะนำเบื้องต้นกันเลย
บางคนอาจจะเคยเจอปัญหาโทรศัพท์มือถือที่ไม่คาดคิด อย่างหน้าจอที่อยู่ ๆ ก็มีอาการสั่นหรือเขย่าจนแอบตกใจ ซึ่งถ้าเป็นแค่นิดเดียวแล้วหายเองก็คงจะไม่มีปัญหาเท่าไร แต่ถ้าหน้าจอสั่นอยู่เรื่อย ๆ ไม่หายเสียทีก็คงจะหงุดหงิดไม่ใช่น้อย หรืออาจถึงขั้นใช้งานไม่ได้กันเลย แต่ก่อนที่จะตื่นตระหนกไปมากกว่านี้ เราลองมาดูวิธีแก้โทรศัพท์หน้าจอสั่นเบื้องต้นกันก่อนดีกว่า ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะยังไม่ถึงขั้นต้องส่งศูนย์ซ่อมก็ได้นะ
โทรศัพท์หน้าจอสั่นเกิดจากอะไร ?
การที่โทรศัพท์หน้าจอสั่นนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยถ้าหากเกิดจากปัญหาด้านซอฟต์แวร์อย่างเช่นบั๊กของแอปฯ หรือระบบปฏิบัติการ หรือเกิดจากไฟฟ้าสถิต ก็อาจสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องส่งซ่อม แต่ถ้ามีสาเหตุมาจากปัญหาด้านฮาร์ดแวร์ คือมีชิ้นส่วนภายในหลุดหรือเสียหาย จำเป็นจะต้องส่งศูนย์ซ่อม ซึ่งในกรณีโชคร้ายที่สุดก็คือหน้าจอเสีย เพราะต้องเปลี่ยนหน้าจอใหม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
โทรศัพท์หน้าจอสั่น แก้ยังไงดี ?
1. ปิดแล้วเปิดเครื่องใหม่
สิ่งแรกที่อยากแนะนำให้ลองทำเมื่อพบปัญหาโทรศัพท์หน้าจอสั่นก็คือ ลองรีสตาร์ตเครื่องหรือปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่สักรอบ หรือถ้าเครื่องค้างก็ให้ใช้วิธี Hard Reset ด้วยการกดปุ่ม Power กับปุ่มเพิ่มหรือลดเสียงค้างไว้ (แล้วแต่รุ่นมือถือ) ซึ่งถ้าหากปัญหาเกิดจากบั๊กของซอฟต์แวร์ก็มักจะหายเป็นปกติหลังจากเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่
2. เช็กตัวเครื่องและหน้าจอ
สำรวจดูรอบ ๆ ตัวเครื่องและหน้าจอว่ามีร่องรอยความเสียหายใด ๆ หรือไม่ เช่น รอยกระแทก แตก ร้าว รวมทั้งดูว่ามีคราบเศษผง ฝุ่น และหยดน้ำ เกาะอยู่ที่หน้าจอหรือไม่ โดยให้ใช้ผ้าสะอาดไม่มีขนเช็ดบนหน้าจอให้ทั่ว นอกจากนี้ถ้าฟิล์มกันรอยมีรอยขนาดใหญ่หรือสภาพเก่ามากก็อาจต้องแกะออกหรือเปลี่ยนฟิล์มใหม่
3. ปิด Adaptive Brightness
อีกหนึ่งวิธีง่าย ๆ ที่ควรลองทำดูก็คือ ปรับความสว่างของหน้าจอ หรือปิดฟีเจอร์ปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ (Adaptive Brightness) โดยสามารถเข้าไปปิดได้ที่ Settings (การตั้งค่า) > Display (จอภาพ) แล้วลองดูว่าอาการสั่นหายไปหรือไม่
4. ลบแอปฯ แล้วติดตั้งใหม่
ในกรณีที่ปัญหาหน้าจอสั่นเป็นกับเฉพาะบางแอปฯ ที่ใช้งาน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากบั๊กของแอปฯ นั้น ๆ และถ้าหากลองปิดแอปฯ แล้วเปิดใหม่แล้วปัญหายังอยู่ ให้อัปเดตแอปฯ ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด หรือลบแอปฯ (อย่าลืมสำรองข้อมูลไว้ก่อน) จากนั้นจึงดาวน์โหลดติดตั้งแอปฯ ดังกล่าวอีกครั้ง
5. อัปเดตระบบปฏิบัติการ
ระบบปฏิบัติการที่เป็นเวอร์ชั่นเก่าเกินไปอาจมีบั๊กหรือปัญหาในการใช้งาน ซึ่งอาจทำให้เครื่องมีอาการหน้าจอสั่นได้เช่นกัน การอัปเดตเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดก็อาจทำให้ปัญหาดังกล่าวหายไปหรือดีขึ้น
6. เข้า Safe Mode
กดปุ่ม Power ค้างไว้จนหน้าจอแสดงปุ่ม Power Off ขึ้นมา ให้กดปุ่มนั้นค้างไว้ประมาณ 2 วินาที จะสามารถเลือกบูตเข้าสู่ Safe Mode ได้ โดยในโหมดนี้จะจำกัดการทำงานของแอปฯ ต่าง ๆ เอาไว้ ถ้าหากเปิด Safe Mode แล้วหน้าจอหายสั่น แสดงว่าปัญหาอาจเกิดจากบางแอปฯ ที่เพิ่งติดตั้งได้ไม่นาน ให้ลองลบแอปฯ ดังกล่าวดู อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้
7. Wipe Cache Partition (เคลียร์แคช)
มือถือ Android หลังจากมีการอัปเดตซอฟต์แวร์หรือระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นใหม่ ๆ แล้วอาจเกิดปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาหน้าจอสั่นได้ ซึ่งการทำ Wipe Cache Partition เพื่อล้างข้อมูล Cache ที่เก็บไว้ในเครื่องอาจช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้หายไป โดยสามารถเข้าไปดูวิธีได้ที่ : Wipe Cache Partition คืออะไร มือถือ Android มีวิธีทำยังไงบ้าง
8. รีเซตเป็นค่าเริ่มต้นจากโรงงาน
หากลองวิธีก่อนหน้านี้ทั้งหมดแล้วปัญหายังคงอยู่ ก็เหลือวิธีสุดท้ายคือการรีเซตเครื่องให้เป็นค่าเริ่มต้นจากโรงงาน (Factory Reset) โดยคำสั่งจะอยู่ในเมนู Settings ของระบบ (เมนูอาจต่างกันไปขึ้นอยู่กับรุ่นมือถือ) ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากด้านซอฟต์แวร์ได้เกือบทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากทำตามวิธีข้างต้นหมดแล้วแต่อาการหน้าจอสั่นก็ยังไม่หาย นั่นก็อาจเป็นเพราะปัญหาเกิดจากด้านฮาร์ดแวร์ เช่น หน้าจอหรือแผงวงจรเสีย ซึ่งจำเป็นต้องส่งเครื่องให้ศูนย์บริการซ่อม แต่ถ้าเป็นเครื่องที่หมดประกันแล้วและมีราคาค่าซ่อมค่อนข้างสูง การตัดสินใจซื้อเครื่องใหม่ก็อาจจะคุ้มกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละบุคคล
บทความปัญหาโทรศัพท์มือถืออื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- หน้าจอโทรศัพท์เป็นเส้น กระพริบ แก้ยังไงดี ต้องเปลี่ยนจอไหม ?
- โทรศัพท์ชาร์จเข้า แต่แบตฯ ไม่เพิ่ม หรือชาร์จไม่เข้า แก้ยังไงดี ?
- มือถือรีสตาร์ตเอง เกิดจากอะไร แก้ยังไงดี ?
- มือถือค้างหน้าโลโก้ มีวิธีแก้ยังไงบ้าง ?
- รูปกุญแจขึ้นหน้าจอซัมซุง คืออะไร แก้ยังไงดี ?
ขอบคุณข้อมูลจาก : samsung.com, huawei.com, google.com, carlcare.com, makeuseof.com