แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน กับ 6 ข้อควรระวังและไม่ควรทำ

          เปิดข้อควรระวังในการใช้งานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน พร้อมแนะวิธีใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ก่อนเกิดอันตรายที่คาดไม่ถึงได้ 

แบตเตอรี่ลิเธียม
ภาพจาก : shutterstock.com / skimin0k

          ในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ใด ๆ ต่างก็ใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Lithium-Ion) กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะมือถือที่หลายคนพกติดตัวตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากมีการใช้งานที่ผิดวิธีก็อาจเกิดอันตรายอย่างที่เราเห็นข่าวแบตเตอรี่ระเบิดอยู่บ่อยครั้ง และในบางครั้งก็อาจถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้น เราจึงจะพาไปดูข้อควรระวังเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน 


1. อย่าใช้ที่ชาร์จราคาถูก ผลิตไม่ได้มาตรฐาน

          หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่ระเบิดซึ่งพบได้บ่อยที่สุดเลยก็คือ การใช้อุปกรณ์ชาร์จที่ไม่ใช่ของแท้หรือผลิตมาไม่ได้มาตรฐาน อย่างเช่น ที่ชาร์จราคาถูก ไม่มีแบรนด์ จำหน่ายในร้านค้าที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยที่ชาร์จเหล่านี้อาจทำให้เกิดการจ่ายไฟเกินหรือไฟฟ้าลัดวงจร จนทำให้แบตเตอรี่เกิดไฟลุกและระเบิดขึ้นได้ จึงควรเลือกใช้ที่ชาร์จของแท้ที่ผลิตได้มาตรฐานเท่านั้น

2. อย่าใช้แบตเตอรี่เกรดต่ำ ยี่ห้อไม่น่าเชื่อถือ

          นอกจากที่ชาร์จแล้ว ตัวแบตเตอรี่ก็ควรใช้ของแท้เช่นกัน ซึ่งตามปกติแบตเตอรี่ที่เปลี่ยนมาจากศูนย์บริการจะเป็นของแท้ แต่ถ้าหากนำโทรศัพท์มือถือไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ตามร้านซ่อมทั่วไป หรือซื้อแบตเตอรี่มาเปลี่ยนเอง ก็ต้องเช็กดูให้ดีด้วยว่าเป็นแบตเตอรี่ของแท้หรือไม่ เพราะแบตเตอรี่เกรดต่ำที่ผลิตมาไม่ได้มาตรฐานอาจเสื่อมสภาพเร็วและเกิดอันตรายในการใช้งานได้

3. ไม่เก็บไว้ในที่ความร้อนสูง

          ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ Power Bank หรืออุปกรณ์ใด ๆ ก็ตามที่มีแบตเตอรี่อยู่ภายใน ไม่ควรวางไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เช่น กลางแดดจัด หรือในรถยนต์ที่จอดตากแดด เพราะความร้อนที่สูงมาก ๆ นั้นสามารถทำให้แบตเตอรี่ติดไฟหรือระเบิดขึ้นได้

4. แบตเตอรี่บวม อย่าฝืนใช้ต่อ

          ถ้าหากแบตเตอรี่เริ่มเสื่อมสภาพมาก ๆ หรือมีอาการบวม ไม่แนะนำให้ใช้งานต่อ ควรเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ทันที เพราะนอกจากแบตเตอรี่ที่ขยายใหญ่ขึ้นจะดันตัวเครื่องและหน้าจอของโทรศัพท์มือถือให้ผิดรูปและเสียหายแล้ว ยังมีโอกาสสูงที่จะเกิดไฟลุกไหม้หรือระเบิดอีกด้วย

แบตเตอรี่ลิเธียม
ภาพจาก : shutterstock.com / cldemara

5. หลีกเลี่ยงความชื้น

          ไม่เพียงแต่ความร้อนเท่านั้นที่ส่งผลเสียต่อแบตเตอรี่ แต่ความชื้นก็เป็นสิ่งที่ต้องระวังเช่นกัน เพราะอาจทำให้เกิดการช็อตได้ ถ้าหากอุปกรณ์ที่มีแบตเตอรี่อยู่ภายในหรือโทรศัพท์ตกน้ำจนน้ำเข้าควรปิดเครื่องทันที อย่าชาร์จหรือใช้งานต่อจนกว่าจะทำให้น้ำแห้งสนิทเสียก่อน ส่วนก้อนแบตเตอรี่ก็ควรหลีกเลี่ยงการวางไว้ในที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ หรือไว้ในตู้เย็น โดยไม่ใส่ถุงพลาสติก เป็นต้น

6. อย่าทำตกหรือกระแทก

          แบตเตอรี่เมื่อเกิดแรงกระแทกจากการทำตก รวมทั้งการถูกเจาะ หรือทำให้บิดงอ อาจทำให้สารเคมีภายในแบตเตอรี่รั่วไหลออกมา ไปจนถึงเกิดการระเบิดได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรทำก้อนแบตเตอรี่หรือ Power Bank ตกพื้น ส่วนโทรศัพท์มือถือทั่วไปที่ผลิตมาได้มาตรฐานมักไม่เกิดปัญหานี้แม้ทำตก (แต่โทรศัพท์อาจจะพังแทน)

แบตเตอรี่เสื่อม มีอาการอย่างไร

          อาการของแบตเตอรี่เสื่อมที่สามารถสังเกตได้จะมีทั้งแบตเตอรี่ลดเร็วกว่าปกติ ความจุไฟน้อยลง ปริมาณแบตเตอรี่ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่คงที่ อุปกรณ์ดับแบบไร้สาเหตุ หรือถ้าอาการหนักหน่อยอาจจะแบตเตอรี่บวม ซึ่งโดยทั่วไปแบตเตอรี่มักจะเสื่อมสภาพเมื่อใช้งานมานานมากกว่า 2 ปีแล้ว โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : มือถือแบตเตอรี่เสื่อมหรือยัง เช็กง่าย ๆ ด้วยอาการเหล่านี้

ชาร์จแบตเตอรี่ครั้งแรกต้อง 8 ชั่วโมงจริงไหม ?

          หลายคนอาจเคยได้ยินมาตั้งแต่สมัยก่อนยุคสมาร์ตโฟนว่า ซื้อมือถือมาใหม่ ให้ชาร์จทิ้งไว้อย่างน้อยประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ แต่โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันนั้นใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนกันหมดแล้ว ทำให้ไม่มีประโยชน์และความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องชาร์จทิ้งไว้นานถึง 8 ชั่วโมง หรือชาร์จทิ้งไว้ทั้งคืน ดังนั้นสามารถชาร์จแค่ให้เต็มแล้วเริ่มใช้งานตามปกติได้เลย

วิธีถนอมแบตเตอรี่ให้มีอายุยาวนาน

          ทั้งนี้ ถ้าอยากให้แบตเตอรี่ไม่เสื่อมเร็วและอยู่กับเราไปนาน ๆ แนะนำว่าไม่ควรปล่อยให้แบตเตอรี่หมดเกลี้ยง สามารถชาร์จได้ตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องรอให้แบตเตอรี่หมด และถ้าหากไม่ได้ใช้งานอุปกรณ์เป็นเวลานาน ควรนำมาชาร์จแบตเตอรี่อย่างน้อยเดือนละครั้ง เนื่องจากถ้าปล่อยไว้นาน ๆ แบตเตอรี่จะค่อย ๆ ลดลงจนหมด และถ้ายิ่งปล่อยทิ้งไว้นานก็จะยิ่งเสื่อมเร็วขึ้น นอกจากนี้ควรใช้หัวชาร์จที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งเลี่ยงความร้อนและความชื้น ไม่ชาร์จไปเล่นไปเพราะจะทำให้ความร้อนสูงขึ้น และสุดท้ายก็คืออย่าทำตกบ่อยนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : vero.co.nzionenergy.cominipcr.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน กับ 6 ข้อควรระวังและไม่ควรทำ อัปเดตล่าสุด 15 มิถุนายน 2565 เวลา 17:09:19 33,435 อ่าน
TOP
x close