วิวัฒนาการของกระจกกันรอย Gorilla Glass จากรุ่น 1 สู่รุ่น 6

          กระจกกันรอย Gorilla Glass ในมือถือคืออะไร ทำไมถึงอยู่คู่กับโทรศัพท์มือถือแบรนด์ต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน แล้วกระจกกันรอยตั้งแต่รุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 6 มีคุณสมบัติอย่างไร จากอดีตถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปมากแค่ไหน มาดูกัน

Gorilla Glass

          นับตั้งแต่มือถือจอสัมผัสหรือทัชสกรีนได้ถือกำเนิดขึ้น ปุ่มกดที่เคยมีได้หายไปหน้าจอมือถือกลายเป็นส่วนสำคัญที่สามารถทำหน้าที่ทั้งแสดงผลและเป็นส่วนที่ใช้ป้อนข้อมูลได้พร้อม ๆ กัน และกลายเป็นรูปแบบมาตรฐานของโทรศัพท์มือถือในทุกวันนี้

          นั่นทำให้กระจกหน้าจอกลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญของโทรศัพท์มือถือที่ทุกค่าย ทุกแบรนด์ ต้องเร่งพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในขณะที่หน้าจอมือถือรุ่นใหม่ ๆ ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น เรื่องความแข็งแรง ทนทานต่อการขีดข่วนก็ยิ่งต้องเพิ่มขึ้นด้วย เพราะหน้าจอเป็นส่วนที่ผู้ใช้ทุกคนต้องสัมผัสอยู่ตลอดในการใช้งาน และมีโอกาสที่จะเสียหายจากการตกกระแทก

          และจนถึงปัจจุบัน กระจกกันรอย Gorilla Glass น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูคุ้นตาและอยู่คู่กับมือถือแทบทุกแบรนด์ก็ว่าได้ มาดูกันดีกว่าว่า กระจก Gorilla Glass มีจุดเริ่มต้นอย่างไร และนับจนถึงเวอร์ชั่นล่าสุดซึ่งเป็นรุ่นที่ 6 แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างไรบ้าง

กระจก Gorilla Glass คืออะไร

Gorilla Glass

          กระจก Gorilla Glass เป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัท Corning ตัวกระจกนั้นเกิดจากพันธะของอลูมิเนียม ซิลิโคน และออกซิเจนเข้าด้วยกัน โดยทาง Corning เริ่มพัฒนากระจกกันรอยในช่วงกลางปี 2548 จนเกิดเป็น Gorilla Glass กระจกกันรอยสำหรับมือถือออกมาจนถึงปัจจุบันทั้งหมด 6 รุ่น และยังมีผลิตภัณฑ์กระจกกันรอยรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มอีก สำหรับใช้กับ Laptop, Smartwatch, เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีหน้าจอสัมผัสที่มีส่วนประกอบของ Gorilla Glass อยู่ด้วย
พัฒนาการของกระจก Gorilla Glass ตั้งแต่รุ่น 1 ถึงรุ่น 6

Gorilla Glass 1

          กระจก Gorilla Glass รุ่นแรก เปิดตัวในช่วงปี 2548-2549 และถูกนำไปใช้ใน iPhone รุ่นแรกเมื่อปี 2550 โดยตัวกระจกมีความหนา 1.5 มิลลิเมตร เคลือบสาร Oleophobic Coating เพื่อช่วยลดรอยนิ้วมือ รอยเปื้อนขณะใช้งาน ซึ่งไม่ใช่แค่ iPhone เท่านั้นที่ใช้กระจก Gorilla Glass แต่ยังมีมือถือและอุปกรณ์อื่น ๆ อีกประมาณ 250 เครื่อง ที่ใช้ Gorilla Glass เช่นกัน

Gorilla Glass 2

          กระจกกันรอย Gorilla Glass รุ่นที่ 2 เปิดตัวในงาน CES เมื่อปี 2555 ซึ่งทาง Corning การันตีว่ากระจกรุ่นนี้มีความแข็งแรงมากกว่ารุ่นแรก รับแรงกดสูงสุด 50 กิโลกรัมโดยไม่เกิดการแตกหรือร้าว ตัวกระจกบางลงกว่าเดิม 20% มีความใสกว่า และรองรับระบบสัมผัสได้ดีขึ้น ซึ่งมือถือที่นำ Gorilla Glass 2 ไปใช้เป็นรุ่นแรก ๆ ก็คือ Samsung Galaxy S3 และ LG Nexus 4 นอกจากนี้ ในปี 2555 มีมือถือที่ใช้กระจก Gorilla Glass ทุกรุ่นรวม 600 ล้านเครื่องด้วยกัน

Gorilla Glass 3

Gorilla Glass

          ต่อมา Gorilla Glass 3 ได้ถูกเปิดตัวในอีเวนต์ CES เมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นงานเปิดตัว Gorilla Glass 2 ในปีที่แล้วเช่นกัน โดยคุณสมบัติของ Gorilla Glass 3 ที่พัฒนาต่อจากรุ่นที่แล้วก็คือ มีน้ำหนักเบากว่า บางเพียง 0.7 มิลลิเมตร มีความแข็งแกร่งกว่ากระจกที่ทำจากวัสดุแซฟไฟร์ แต่กันรอยขีดข่วนได้มากกว่าเดิม ซึ่งแบรนด์ที่นำ Gorilla Glass 3 ไปใช้ในมือถือ คือ Samsung ใช้ในรุ่น Galaxy S4, Moto นำไปใส่ใน Moto G และ Moto X

Gorilla Glass 4

Gorilla Glass

          เปิดตัวกันแบบปีต่อปีเลยทีเดียว กับ Gorilla Glass ที่เปิดตัวเมื่อปี 2557 ซึ่งทาง Corning เปิดเผยผลวิจัยว่า 70% ของความเสียหายของหน้าจอมือถือเกิดจากตก หล่น จึงพัฒนาให้กระจกรุ่นนี้มีความแข็งแกร่งกว่ารุ่นก่อนถึง 2 เท่า รอดจากการตกกระแทกถึง 80% (ทดสอบจากระยะความสูง 1 เมตร) บางเพียง 0.4 มิลลิเมตร โดยมือถือที่ได้ใช้ Gorilla Glass 4 ได้แก่ Samsung Galaxy Note 5, Samsung Galaxy Alpha, Samsung Galaxy A (2016), Asus ZenFone 2 Laser

Gorilla Glass 5

Gorilla Glass

          ส่วน Gorilla Glass 5 เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 กระจกรุ่นนี้สร้างจากผลสำรวจโดย Corning ว่า 85% ของผู้ใช้ เคยทำมือถือตกอย่างน้อย 1 ครั้งใน 1 ปี 60% ทำมือถือตกที่ความสูงระดับเอวถึงไหล่ และ 85% ทำมือถือตกอย่างน้อย 3 ครั้งหรือมากกว่านั้น ซึ่งนอกจากจะทนทานต่อแรงกดทับแล้ว ยังต้านทานจากการตก หล่นมากขึ้น มีความแข็งแกร่งจากรุ่นเดิมถึง 4 เท่าด้วยกัน และมีคุณสมบัติป้องกันหน้าจอมือถือแตกจากการหล่นจากที่สูง 1.6 เมตรได้ถึง 80% โดยแบรนด์ OnePlus ก็เริ่มนำ Gorilla Glass 5 ไปใช้กับมือถือในเครือเช่นกัน

Gorilla Glass 6

Gorilla Glass

          มาถึงกระจกกันรอยรุ่นล่าสุด Gorilla Glass 6 ที่เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2561 เป็นรุ่นปรับปรุงต่อยอดจาก Gorilla Glass 5 ที่ผ่านการทดสอบจากทาง Corning ด้วยการทำตกหลาย ๆ ครั้ง (สูงสุด 15 ครั้ง) จากความสูง 1 เมตร เพิ่มคุณสมบัติความทนทาน ตอบสนองต่อการสัมผัสที่ดี และรองรับการชาร์จแบบไร้สาย เพราะมือถือในช่วงปีนี้หันมาใช้ Gorilla Glass ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งหนึ่งในมือถือที่ชาร์จไร้สายได้และใช้ Gorilla Glass 6 ก็คือซีรี่ส์ Samsung Galaxy S10 นั่นเอง และยังถูกนำไปใช้ในมือถือแบรนด์ OPPO, Xiaomi, OnePlus อีกด้วย

Gorilla Glass ชนิดอื่น ๆ

Gorilla Glass

          Gorilla Glass ไม่ได้อยู่ในโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังอยู่ในอุปกรณ์อื่น ๆ อีกด้วย เช่น Gorilla Glass SR+ กระจกกันรอยสำหรับนาฬิกาอัจฉริยะ อุปกรณ์สวมใส่, Antimicrobial Gorilla Glass กระจกกันรอยที่ช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่สะสมบนหน้าจอ แต่กระจกประเภทนี้จะอยู่ในอุปกรณ์ประเภทอื่น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า Smart Home ที่ต้องใช้หน้าจอสัมผัสบ่อย ๆ, Astra Glass กระจกสำหรับหน้าจอโทรทัศน์ 8K ระดับ Hi-End, Vibrant Gorilla Glass กระจกที่สามารถพิมพ์ลวดลายเพิ่มเติมลงบนกระจกได้ และในอนาคตก็อาจมีการพัฒนากระจกประเภทอื่น ๆ ออกมาอีก
มือถือที่ใช้กระจก Gorilla Glass ยังต้องติดฟิล์มกันรอยไหม

          เป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตกันเลย สำหรับคำถามที่ว่า มือถือที่ใช้กระจก Gorilla Glass ยังต้องติดฟิล์มกันรอยหรือไม่ ในเมื่อตัวกระจกมีคุณสมบัติกันรอยอยู่แล้ว ขอตอบว่า แม้ตัวกระจกกันรอยจะมีคุณสมบัติกันรอยขีดข่วน รอยนิ้วมือ หรือป้องกันจากการตกกระแทก ทางที่ดีควรติดฟิล์มกันรอยป้องกันไว้ดีกว่า โดยเมื่อตกกระแทกแล้วกระจกจะมีโอกาสแตกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความแรงขณะตก, มุมของตัวเครื่องมือถือที่กระทบพื้น และพื้นผิวที่เครื่องตกกระทบก็มีผลเช่นกัน โดยสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ ฟิล์มกันรอยมือถือ จำเป็นไหม ไม่ต้องติดได้หรือเปล่า ?

ภาพและข้อมูลจาก androidpit.com, corning.com

สนใจให้ Kapook.com รีวิวสินค้ามีสเปก จัดทำวิดีโอโปรโมต หรือ Content และ Social Marketing
คลิกดูรายละเอียดกันเลย

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิวัฒนาการของกระจกกันรอย Gorilla Glass จากรุ่น 1 สู่รุ่น 6 อัปเดตล่าสุด 20 มกราคม 2563 เวลา 17:19:55 57,314 อ่าน
TOP
x close