8 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่ามือถือของเราเสี่ยงโดนแฮก อยากรู้ว่ามือถือที่ใช้อยู่เสี่ยงโดนแฮกหรือไม่ ต้องอ่าน
ปัจจุบันภัยคุกคามนั้นมีอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นบนคอมพิวเตอร์หรือมือถือ ซึ่งมักมาในรูปแบบของมัลแวร์และไวรัสที่แฝงตัวมาตามช่องทางต่าง ๆ และเป็นเครื่องมือหลักที่แฮกเกอร์ใช้ในการแฮกข้อมูลจากอุปกรณ์ของผู้ใช้ ซึ่งผู้ใช้อาจไม่รู้ตัวเลยว่าโดนแฮกเข้าแล้ว โดยในวันนี้เราได้นำ 8 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่ามือถือของเราเสี่ยงโดนแฮกจากเว็บไซต์ Techworld มาให้ได้อ่านกัน เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันเมื่อโดนแฮก และถ้าพบว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงก็ควรรีบหาแอปฯ สแกนไวรัส เปลี่ยนรหัสผ่าน หรือถ้าถึงขั้นร้ายแรงก็อาจต้องลบล้างข้อมูลในเครื่องออกทั้งหมด ก่อนที่จะไปถึงมือแฮกเกอร์
1. ใช้ระบบปฏิบัติการ Android หรือไม่
อย่างแรกเลยคือต้องดูก่อนว่ามือถือใช้ระบบปฏิบัติการอะไร ถ้าเป็น iPhone ที่ใช่ iOS นั้นจะมีความเสี่ยงในการโดนแฮกน้อยกว่ามาก เพราะไม่ได้เป็นระบบปฏิบัติการแบบ Open-source เหมือน Android ซึ่งเปิดให้ใคร ๆ ก็สามารถปรับแต่งตัวระบบปฏิบัติการได้ เพราะฉะนั้นถ้ามือถือที่ใช้อยู่เป็น Android ก็พึงระลึกไว้ว่ามีความเสี่ยงต่อการโดนแฮกมากกว่า
2. แบตเตอรี่หมดเร็วกว่าปกติ
ถ้าหากเผลอดาวน์โหลดแอปฯ ที่มีมัลแวร์มาติดตั้ง มันก็จะทำงานแบบ Background ตลอดเวลา เพื่อทำงานตามที่แฮกเกอร์ตั้งโปรแกรมเอาไว้ ทำให้ใช้พลังงานแบตเตอรี่มากกว่าปกติ และมันก็อาจเลวร้ายจนถึงขั้นควบคุมเครื่องหรือขโมยข้อมูลสำคัญไปได้
3. ใช้เน็ตเปลืองกว่าปกติ
ถ้าหากปกติใช้เน็ตมือถือในปริมาณเท่าเดิมสม่ำเสมอ แต่อยู่มาวันหนึ่งก็พบว่าแบนด์วิดธ์อินเทอร์เน็ตที่ใช้นั้นสูงขึ้นผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ใช้งานมากขึ้น ก็อาจสงสัยได้ว่ามีมัลแวร์ในเครื่องที่แอบส่งข้อมูลสำคัญในเครื่องไปให้แฮกเกอร์ก็เป็นได้
4. สแปมต่าง ๆ
อีกหนึ่งความเสี่ยงยอดฮิตที่อาจทำให้ถูกแฮกได้ก็คือ สแปมต่าง ๆ ที่มีในรูปแบบของข้อความ SMS หรืออีเมล ซึ่งมักจะมาพร้อมลิงก์และข้อความเชิญชวนหลอกให้คลิก เมื่อคลิกแล้วก็อาจโดนไวรัสหรือมัลแวร์ หรืออาจหลอกให้กรอกข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อบัญชีและรหัสผ่าน เพราะฉะนั้นก่อนที่จะคลิกลิงก์ใด ๆ จะต้องตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่าอีเมลนั้นดูน่าไว้วางใจหรือไม่ เป็นอีเมลที่บริษัทนั้น ๆ ส่งมาจริง ๆ หรือเป็นการแอบอ้าง
5. การใช้ Wi-Fi สาธารณะ
แฮกเกอร์อาจสร้าง Wi-Fi สาธารณะที่สามารถเชื่อมต่อและใช้อินเทอร์เน็ตได้ฟรี รวมทั้งอาจตั้งชื่อ Wi-Fi ให้เหมือนกับชื่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ เพื่อหลอกให้คนเข้าไปใช้งาน ซึ่งเมื่อมีการเชื่อมต่อ Wi-Fi แล้ว แฮกเกอร์ก็จะสามารถแฮกขโมยข้อมูลต่าง ๆ ได้ หรืออาจสั่งให้มือถือเปิดหน้าเว็บขึ้นมาเพื่อหลอกให้กรอกข้อมูลสำคัญอย่างรหัสผ่าน จึงควรระมัดระวังทุกครั้งและไม่ควรทำธุรกรรมการเงินใด ๆ ทั้งสิ้นในขณะที่ใช้ Wi-Fi สาธารณะ
6. การเปิด Bluetooth ทิ้งไว้
การที่มือถือเปิด Bluetooth ทิ้งไว้นั้นเป็นการเปิดช่องให้แฮกเกอร์สามารถแฮกมือถือผ่าน Bluetooth จากระยะไกลได้ รวมทั้งอาจส่งลิงก์หรือไฟล์ที่อันตรายมาให้ ซึ่งถ้าหากเผลอกดรับก็จะงานเข้าทันที ทางที่ดีก็ควรปิด Bluetooth เมื่อไม่ได้ใช้งาน และถ้าหากพบว่า Bluetooth เปิดขึ้นเองทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กดเปิดก็อาจเกิดจากการถูกแฮกได้เช่นกัน
7. Popup ต่าง ๆ
ขณะใช้งานแอปฯ หรือท่องเว็บถ้าหากพบ Popup ใด ๆ ที่แจ้งว่าให้อัปเดตซอฟต์แวร์หรือสแกนไวรัส อย่าเพิ่งหลังเชื่อ เพราะการอัปเดตซอฟต์แวร์ตามปกติแล้วจะไม่มาในรูปแบบ Popup ควรจะมาในรูปแบบแจ้งเตือนให้อัปเดตผ่านทาง Google Play เท่านั้น รวมทั้ง Popup ที่แจ้งว่าพบไวรัสในเครื่อง ให้รีบสแกนไวรัสด่วน ที่แท้นั่นแหละคือไวรัส !
8. แอปฯ ปลอม
การติดตั้งแอปฯ นอก Google Play นั้นถือว่ามีความเสี่ยง เพราะไม่มีการตรวจสอบใด ๆ ทำให้อาจเจอแอปฯ ปลอมที่ฝังมัลแวร์เอาไว้ก็เป็นได้ แต่ถึงแม้จะเป็นแอปฯ ใน Google Play ก็ไม่ควรประมาท ควรตรวจสอบดูก่อนว่าเป็นแอปฯ จากผู้พัฒนาที่เชื่อถือได้หรือไม่ รวมทั้งการอ่านรีวิวของแอปฯ นั้น ๆ ถ้าหากพบว่ามีแอปฯ ที่ไม่น่าไว้ใจในเครื่องให้รีบลบทิ้งทันที