Refresh Rate คืออะไร หน้าจอ 60Hz และ 120Hz ต่างกันอย่างไร ถ้าอยากรู้ต้องอ่าน
หลายคนอาจจะเคยเห็นคำว่า Refresh Rate ผ่านตากันมานานแล้ว ซึ่งคำนี้มักจะปรากฏอยู่ในรายละเอียดสเปคของทีวีและจอคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ โดยจะมีหน่วยเป็น Hz ได้ 60Hz และ 120Hz ซึ่งปกติทั่วไปจอ LCD มักจะมีค่า Refresh Rate พื้นฐานอยู่ที่ 60Hz ส่วนรุ่นแพง ๆ หน่อยก็จะเป็น 120Hz และในยุคหลัง ๆ นี้ก็เริ่มมีมือถือและแท็บเล็ตที่ใช้จอภาพ 120Hz กันบ้างแล้ว เช่น iPad Pro และ Sharp Aquos Mini/AQUOS R compact แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้หรือไม่แน่ใจว่าเจ้าค่า Refresh Rate เนี่ยมันคือะไร 120Hz แล้วดีอย่างไร ถือว่าจำเป็นหรือไม่ วันนี้เราจะอธิบายให้หายสงสัยกัน
Refresh Rate คือ ค่าที่บอกว่า จอภาพนั้น ๆ สามารถแสดงภาพนิ่งได้กี่ภาพ (เฟรม) ภายใน 1 วินาที หรือรองรับการแสดงผลคอนเทนต์ที่ Frame Rate (fps) สูงสุดเท่าไร โดยจอภาพที่เป็น 60Hz จะรองรับการแสดงผลสูงสุดที่ 60fps ส่วนจอภาพ 120Hz ก็รองรับ 120fps ซึ่งยิ่ง fps มากภาพที่ได้ก็จะยิ่งมีการเคลื่อนไหวที่ลื่นไหลมากขึ้น
ทีนี้ก็จะเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า ถ้าจอภาพนั้นมีการแสดงผลคอนเทนต์ที่ fps ไม่ตรงกับค่า Refresh Rate จะเป็นอย่างไร ? กรณีที่คอนเทนต์มีค่า fps สูงกว่า Refresh Rate เช่น นำจอภาพ 60Hz มาเล่นเกมที่มี Frame Rate 120fps ภาพที่ได้ก็จะไม่ต่างกับการเล่นเกมที่ 60fps เนื่องจากจอภาพจะนำมาแสดงผลเพียงแค่ 60fps ก็คือตัดเฟรมออกไปครึ่งหนึ่งนั่นเอง
ส่วนกรณีที่คอนเทนต์มีค่า fps ต่ำกว่า Refresh Rate ของจอภาพ ตามปกติแล้วจอภาพอาจสร้างเฟรมซ้ำขึ้นมาจนเท่ากับค่า Hz ของจอภาพ เช่น เปิดวิดีโอบนยูทูบที่มี Frame Rate 30 fps บน iPad Pro 120Hz มันก็จะสร้างเฟรมซ้ำขึ้นมาอีก 4 เท่า ซึ่งผลที่ได้ก็จะไม่ต่างอะไรกับการดูวิดีโอ 30fps เลย
ถ้าถามว่าข้อดีของจอภาพ 120Hz อยู่ที่ตรงไหน ? หลัก ๆ เลยก็คงจะเป็นการแสดงผลคอนเทนต์ที่เป็น 120fps ซึ่งจะทำให้ภาพเคลื่อนไหวดูลื่นไหลกว่า 60Hz แต่สำหรับบางคนก็อาจแยกความแตกต่างไม่ค่อยออก โดยในปัจจุบันนอกจากเกมแล้ว ก็ยังไม่มีคอนเทนต์ประเภทวิดีโอที่เป็น 120fps (หรือถ้ามีก็คงหายากมาก)
นอกจากนี้จอภาพ 120Hz ก็ยังมีข้อดีอีกหนึ่งอย่างคือ กรณีที่เปิดดูวิดีโอหรือภาพยนตร์ที่เป็น 24fps ซึ่งในกรณีนี้ถ้าเปิดดูในหน้าจอที่เป็น 60Hz การสร้างเฟรมซ้ำมาแทรกก็อาจไม่สม่ำเสมอ (เพราะ 60 หาร 24 ไม่ลงตัว) ทำให้มีการสร้าง 2 เฟรมบ้าง 3 เฟรมบ้าง คละกันไป ซึ่งอาจส่งผลให้ภาพสั่นเล็กน้อย บางคนอาจไม่รู้สึก แต่บางคนก็รู้สึกรำคาญอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าเป็นจอภาพ 120Hz จะไม่มีปัญหานี้เนื่องจากจอภาพสามารถสร้างเฟรมเพิ่มอีก 5 เท่าได้พอดี (เพราะ 120 หาร 24 ได้ 5 ลงตัว) และแน่นอนว่าภาพที่ได้ก็จะเหมือน 24fps ปกติ ไม่ได้ลื่นไหลเหมือน 120fps แต่อย่างใด แต่สำหรับทีวีรุ่นที่มีฟีเจอร์ประเภท MotionFlow ก็สามารถนำจุดเด่นของ 120Hz มาใช้ได้
ภาพจาก shutterstock.com/KOKTARO
สรุปว่าจอภาพ 120Hz มีจุดเด่นหลัก ๆ คือ เมื่อนำไปเล่นเกมที่แสดงผล 120fps ภาพจะลื่นไหลกว่าเดิม (สำหรับเกมมือถือคงหายากหน่อย) รวมทั้งสามารถเปิดดูวิดีโอหรือภาพยนตร์ที่เป็น 24fps ได้ดีกว่าจอภาพ 60Hz เนื่องจากจะไม่มีปัญหาภาพสั่นเนื่องจากการแทรกเฟรมที่ไม่สม่ำเสมอ โดยรวมแล้ว Refresh Rate 120Hz สำหรับมือถือและแท็บเล็ตอาจจะไม่ถึงกับเป็นสิ่งจำเป็นมากนัก แต่มีไว้ก็ดีกว่าไม่มี
ภาพและข้อมูลจาก rtings, androidauthority